พระราชบัญญัติสหกรณ์
ฉบับสมบูรณ์
(รวมฉบับที่ 1 พ.ศ. ๒๕๔๒ ฉบับที่ 2 พ.ศ. ๒๕๕๓ และฉบับที่ 3 พ.ศ. ๒๕๖๒)
-------------------------------------
( พระราชบัญญัติสหกรณ์ที่นำเสนอนี้เป็นพระราชบัญญัติสหกรณ์ฉบับสมบูรณ์ คือ ได้ผสานรวม (ฉบับที่ ๑) พ.ศ.๒๕๔๒ ผลจากการแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๓ และผลจากการแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒ ทั้งนี้
บทบัญญัติที่ใช้ตัวอักษรตัวเอนสีน้ำเงิน คือส่วนที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในปีพ.ศ.๒๕๕๓
บทบัญญัติที่ใช้ตัวอักษรตัวเอนสีแดง คือส่วนที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในปีพ.ศ.๒๕๖๒
และข้อความตัวเอนที่มีเครื่องหมาย ** นำหน้า เป็นส่วนของการขยายความ)
---------------------------------------
พระราชบัญญัติสหกรณ์
พ.ศ. 2542
----------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2542
(เป็นปีที่ ๕๔ ในรัชกาลที่ ๙)
--------------------------------------------
พระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่2)
พ.ศ. 2553
---------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2553
(เป็นปีที่ ๖๕ ในรัชกาลที่ ๙)
--------------------------------------------
พระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ๓)
พ.ศ. ๒๕๖๒
---------------
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๒
เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์
พระราชบัญญัติมีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของ บุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับตามมาตรา ๔๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติสหกรณ์ ...“ ** (ฉบับที่ ๑) พ.ศ.๒๕๔๒(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๓
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันถัดจากวัน ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ** (ฉบับแก้ไขปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒)
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.๒๕๑๑
(๒) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๔๐ ลงวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๕
(๓) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๔๗ ลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๕
(๔) พระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๒๔
(๕) ความในบทนิยามคำว่า “สหกรณ์” ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน **(ใช้ความในบทนิยามฉบับแก้ไข พ.ศ. ๒๕๖๒ แทน)
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
"สหกรณ์" หมายความว่า คณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิกสหกรณ์ผู้มีสัญชาติไทย โดยช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้
"สมาชิก" หมายความว่า สมาชิกของสหกรณ์ หรือสมาชิกกลุ่มเกษตรกร
"พนักงาน เจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้า หน้าที่ กับออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
หมวด ๑
บททั่วไป
มาตรา ๖ ถ้าสหกรณ์เกี่ยวข้องในกิจการใดที่กฎหมายกำหนดให้จดทะเบียนสำหรับการได้ มา การจำหน่าย การยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ หรือการยึดหน่วงซึ่งกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิ อันเกี่ยว กับอสังหาริมทรัพย์ การจดทะเบียนเช่นว่านั้น ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
มาตรา ๗ ห้ามมิให้ผู้ใดนอกจากสหกรณ์และสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ใช้คำว่า "สหกรณ์" เป็นชื่อหรือส่วนหนึ่งของชื่อในทางธุรกิจ
มาตรา ๘ ทุนกลางของบรรดาสหกรณ์ไม่จำกัดตามมาตรา ๖๑(๒) แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.๒๕๑๑ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดการฝากไว้ที่ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือฝากไว้ที่สถาบันการเงินอื่นใด โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ หรือลงทุนตามระเบียบที่กระทรวง เกษตรและสหกรณ์กำหนด ดอกผลที่เกิดขึ้นจากทุนกลางให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจจ่ายขาดให้แก่ สันนิบาตสหกรณ์ แห่งประเทศไทย เพื่อใช้จ่ายในกิจการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๑๐
หมวด ๒
การกำกับและส่งเสริมสหกรณ์
----------------------------
ส่วนที่ ๑
คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ
มาตรา ๙ ให้มีคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ ประกอบด้วย รัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานกรรมการ ปลัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ผู้ อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้จัดการใหญ่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ประธานกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ผู้แทนสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยซึ่งเป็นกรรมการดำเนินการ ประธานกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์ระดับประเทศประเภทละหนึ่งคน ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรระดับประเทศหนึ่งคน เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกินห้าคนเป็นกรรมการ
ให้อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้อำนวยการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง
ให้กรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ ซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่งคัดเลือกผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ
ในด้านการเงิน การตลาด การเกษตร กฎหมาย หรือดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีแต่งตั้ง
มาตรา ๑๐ คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีในเรื่องนโยบายและแนวทางในการพัฒนาการสหกรณ์ ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
(๒) กำหนดนโยบายและแผนพัฒนาการสหกรณ์ ให้สอดคล้องกับระยะเวลาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(๓) กำหนดแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนการขยายธุรกิจและกิจการของสหกรณ์ รวมทั้งการร่วมมือกับภาคเอกชนให้มีส่วนในการพัฒนาการสหกรณ์
(๔) กำหนดแนวทางในการประสานงานระหว่างส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือภาคเอกชน เพื่อให้การส่งเสริมสนับสนุนกิจการของสหกรณ์
(๕) พิจารณาแก้ไขปัญหาและอุปสรรคตลอดจนข้อขัดข้องที่ทำให้นโยบายและแผนการพัฒนาการสหกรณ์ไม่อาจบรรลุเป้าหมาย
(๖) พิจารณาเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวกับสหกรณ์ตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
(๗) มีอำนาจและหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๑ ให้กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี
ในกรณีมีการแต่งตั้งกรรมการในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมี วาระอยู่ในตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งเพิ่มขึ้นหรือแต่งตั้งซ่อม ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการ ซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้วนั้น
มาตรา ๑๒ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๑ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) รัฐมนตรีให้ออก
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำ พิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
มาตรา ๑๓ การประชุมคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ในการประชุมครั้งใดถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่ประธานกรรมการ และรองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
ในกรณีที่ประธานออกเสียงชี้ขาด ต้องให้มีบันทึกเหตุผลทั้งสองฝ่ายไว้ด้วย
ให้มีการประชุมคณะกรรมการไม่น้อยกว่าปีละสี่ครั้ง
มาตรา ๑๔ ให้คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาบุคลากรสหกรณ์ คณะอนุกรรมการการลงทุน และอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอื่นตามความจำเป็น โดยคำนึงถึงความเชี่ยวชาญในแต่งละด้าน เพื่อพิจารณาหรือกระทำการใด ๆ ตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติมอบหมาย
การประชุมของคณะอนุกรรมการตามวรรคหนึ่งให้นำมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และการดำเนินงานอื่นของคณะอนุกรรมการให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติประกาศกำหนด
ส่วนที่ ๒
นายทะเบียนสหกรณ์
มาตรา ๑๕ ให้อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นนายทะเบียนสหกรณ์
ให้นายทะเบียนสหกรณ์แต่งตั้งข้าราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่าเป็นรองนายทะเบียน สหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่นายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย
การแต่งตั้งตามวรรคสองให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๑๖ ให้นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) รับจดทะเบียน ส่งเสริม ช่วยเหลือ แนะนำ และกำกับดูแลสหกรณ์ให้เป็นไปตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น
(๒) กำหนดระบบบัญชี ตลอดจนสมุด และแบบรายงานต่าง ๆ ที่สหกรณ์ต้องยื่น ต่อนายทะเบียนสหกรณ์ รวมทั้งแบบพิมพ์อื่น ๆ ที่ต้องใช้ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
(๓) แต่งตั้งผู้สอบบัญชีตามมาตรา ๘๐ ผู้ตรวจการสหกรณ์ และผู้ชำระบัญชี
(๔) ออกคำสั่งให้มีการตรวจสอบ หรือไต่สวนเกี่ยวกับการจัดตั้งการดำเนินงาน หรือฐานะการเงินของสหกรณ์ หรือให้จัดทำแผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์
(๕) สั่งให้ระงับการดำเนินงานทั้งหมด หรือบางส่วนของสหกรณ์ หรือให้เลิกสหกรณ์ ถ้าเห็นว่าสหกรณ์กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการอันอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์หรือสมาชิก
(๖) ถอนชื่อสหกรณ์ออกจาก ทะเบียนสหกรณ์
(๗) จัดทำรายงานประจำปีแยก ตามประเภทสหกรณ์เสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ
(๘) ออกระเบียบ หรือคำสั่ง เพื่อให้มีการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของสหกรณ์
(๙) กระทำการอื่นใดตามที่ พระราชบัญญัตินี้กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนสหกรณ์ หรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย
บรรดาอำนาจของนายทะเบียนสหกรณ์ในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติหรือการดำเนินการอื่นใดตามพระราชบัญญัตินี้ นายทะเบียนสหกรณ์อาจมอบอำนาจให้รองนายทะเบียนสหกรณ์ ผู้ตรวจการสหกรณ์ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมายให้ปฏิบัติการแทนได้
การมอบอำนาจตามวรรคสองให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ส่วนที่ ๓
การกำกับดูแลสหกรณ์
มาตรา ๑๗ นายทะเบียนสหกรณ์ รองนายทะเบียนสหกรณ์
ผู้ตรวจการสหกรณ์ ผู้สอบบัญชี หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ผู้ตรวจสอบกิจการ ผู้จัดการ เจ้าหน้าที่ สมาชิกของสหกรณ์ หรือหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์มาชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ หรือให้ส่งเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินงาน หรือรายงานการประชุมของสหกรณ์ได้
มาตรา ๑๘ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนสหกรณ์ รองนายทะเบียนสหกรณ์ ผู้ตรวจการสหกรณ์ ผู้สอบบัญชี หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบในสำนักงานของสหกรณ์ในระหว่างเวลาทำงานของสหกรณ์ได้ และให้ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกหรือช่วยเหลือ หรือให้คำชี้แจงแก่ผู้ปฏิบัติการตามสมควร
ให้ผู้ปฏิบัติการตามวรรคหนึ่ง แสดงบัตรประจำตัวต่อผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง
บัตรประจำตัวตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๑๙ ให้ผู้ตรวจการสหกรณ์มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบกิจการและฐานะการเงินของสหกรณ์ ตามที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด เมื่อตรวจสอบแล้วให้เสนอรายงานการตรวจสอบต่อนายทะเบียนสหกรณ์
มาตรา ๒๐ ถ้าที่ประชุมใหญ่หรือที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ลงมติอันเป็นการ ฝ่าฝืนกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบของสหกรณ์ ระเบียบหรือคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ ให้นายทะเบียนสหกรณ์หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจสั่งยับยั้งหรือเพิกถอน มตินั้นได้
มาตรา ๒๑ ในกรณีที่คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ ผู้จัดการ เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทำให้สหกรณ์เสียหาย ถ้าสหกรณ์ไม่ร้องทุกข์หรือฟ้องคดี ให้นายทะเบียนสหกรณ์หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีแทนสหกรณ์ได้ โดยส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณารับว่าต่างให้สหกรณ์ และให้สหกรณ์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการร้องทุกข์ ฟ้องคดีหรือการว่าต่างแก่นายทะเบียนสหกรณ์ รองนายทะเบียนสหกรณ์ หรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี
มาตรา ๒๒ ในกรณีที่คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการในการปฏิบัติหน้าที่ของตนอันอาจทำให้เสื่อมเสียผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก หรือสหกรณ์มีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี หรือกิจการหรือฐานะการเงิน ตามรายงานการสอบบัญชี หรือตามรายงานการตรวจสอบ ให้นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ปฏิบัติการ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์แก้ไขข้อบกพร่องตามวิธีการและระยะเวลาที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
(๒) ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ระงับการปฏิบัติที่เป็นเหตุให้เกิดข้อบกพร่อง หรืออาจทำให้เสื่อมเสียผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก
(๓) ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการแก้ไขข้อบกพร่องนั้นให้แล้วเสร็จ
(๔) ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ หรือให้กรรมการซึ่งเกี่ยวข้องกับการนั้นพ้นจากตำแหน่งกรรมการ
มาตรา ๒๓ สหกรณ์ใดจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นยังไม่เกินสามปีหรือมีผลการดำเนินงานขาดทุน ติดต่อกันเกินสองปี เมื่อสหกรณ์ร้องขอ หรือนายทะเบียนสหกรณ์ หรือคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติเห็นว่าจำเป็นต้องแก้ไข นายทะเบียนสหกรณ์จะสั่งให้ผู้ตรวจการสหกรณ์หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนาย ทะเบียนสหกรณ์มอบหมายเข้าช่วยเหลือดำเนินกิจการของสหกรณ์นั้นทั้งหมด หรือบางส่วนก็ได้
การช่วยเหลือดำเนินกิจการของสหกรณ์ให้เป็นไปตามระเบียบที่นายทะเบียนสหกรณ์ กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ
มาตรา ๒๓/๑ ในกรณีที่นายทะเบียนสหกรณ์มีคำสั่งตามมาตรา ๒๒ (๓) ให้นายทะเบียนสหกรณ์สั่งให้ผู้ตรวจการสหกรณ์หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมายดำเนินการแทนคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องให้แล้วเสร็จ ตามวิธีการและภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด และดำเนินกิจการแทนสหกรณ์นั้น โดยให้ถือว่าผู้ได้รับมอบหมายดังกล่าวเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก จนกว่าจะแก้ไขข้อบกพร่องนั้นให้แล้วเสร็จโดยให้ดำเนินการได้เท่าที่จำเป็น
มาตรา ๒๔ ในกรณีที่นายทะเบียนสหกรณ์สั่งให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์พ้นจากตำแหน่ง ทั้งคณะ ให้นายทะเบียนสหกรณ์ตั้งคณะกรรมการชั่วคราว มีอำนาจหน้าที่และสิทธิเช่นเดียวกับคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ และให้อยู่ในตำแหน่งไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่แต่งตั้ง
ก่อนที่จะพ้นจากตำแหน่งให้คณะกรรมการชั่วคราวจัดให้มีการประชุมใหญ่ เพื่อเลือกตั้งกรรมการขึ้นใหม่ทั้งคณะตามวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับ
มาตรา ๒๕ ในกรณีที่นายทะเบียนสหกรณ์สั่งให้กรรมการบางคนพ้นจากตำแหน่ง ให้คณะกรรมการ ส่วนที่เหลือเรียกประชุมใหญ่เลือกตั้งผู้เป็นกรรมการแทนภายในเวลาสามสิบวัน นับแต่วันที่กรรมการพ้นจากตำแหน่ง ถ้ามิได้เลือกตั้งหรือเลือกตั้งผู้เป็นกรรมการไม่ได้ตามกำหนดเวลาให้นาย ทะเบียนสหกรณ์ตั้งสมาชิกเป็นกรรมการแทนในการนี้ให้ผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งกรรกมารเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตน แทน
มาตรา ๒๖ คำสั่งใด ๆ ตามมาตรา ๒๐ มาตรา ๒๒ มาตรา ๒๔ และมาตรา ๒๕ ให้ผู้มีส่วนได้เสียอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติได้ภายในสาม สิบวันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติให้เป็นที่สุด
** ยกเลิกมาตรา ๒๖
ส่วนที่ ๔
กองทุนพัฒนาสหกรณ์
มาตรา ๒๗ ให้จัดตั้งกองทุนพัฒนาสหกรณ์ขึ้นในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรียกโดยย่อว่า "กพส." เพื่อเป็นทุนส่งเสริมกิจการของสหกรณ์ ประกอบด้วยเงินและทรัพย์สินตามมาตรา ๒๘
มาตรา ๒๘ กพส. ประกอบด้วย
(๑) เงินอุดหนุนที่ได้รับจากงบประมาณแผ่นดิน
(๒) เงินและทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้
(๓) เงินและทรัพย์สินที่ตกเป็นของ กพส.
(๔) เงินที่ได้จากการจำหน่ายทรัพย์สินที่ได้รับมาตาม (๒) และ (๓)
(๕) ดอกผล รายได้ หรือประโยชน์อื่นใดของ กพส.
เงินและทรัพย์สินของ กพส. ตามวรรคหนึ่งให้นำส่งเข้าบัญชี กพส. โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
มาตรา ๒๙ การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน การจัดหาผลประโยชน์ การจัดการ และการจำหน่ายทรัพย์สินของ กพส. ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพัฒนาการ สหกรณ์แห่งชาติ
มาตรา ๓๐ ให้มีคณะกรรมการบริหาร กพส. ประกอบด้วย อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็น ประธานกรรมการ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ อธิบดีกรมประมง อธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ผู้แทนสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการอื่นซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้แทนของสหกรณ์ประเภทละหนึ่งคนและผู้ แทนกลุ่มเกษตรกรหนึ่งคน เป็นกรรมการ
ให้รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ซึ่งอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์มอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการ
การเลือกผู้แทนของสหกรณ์และผู้แทนกลุ่มเกษตรกรเพื่อให้รัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนด
ให้คณะกรรมการบริหาร กพส. มีอำนาจหน้าที่บริหาร กพส. ตลอดจนตรวจสอบ ติดตามและประเมินผลงานของสหกรณ์ที่ได้รับการส่งเสริมกิจการจาก กพส. ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในระเบียบกรมส่งเสริมสหกรณ์
มาตรา ๓๑ ให้นำความในมาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒ มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งของกรรมการบริหาร กพส. ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้แทนของสหกรณ์และผู้แทนกลุ่มเกษตรกร โดยอนุโลม
มาตรา ๓๒ ให้นำความในมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะกรรมการบริหาร กพส. โดยอนุโลม
หมวด ๓
สหกรณ์
ส่วนที่ ๑
การจัดตั้งและการจดทะเบียนสหกรณ์
มาตรา ๓๓ สหกรณ์จะตั้งขึ้นได้โดยการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ และต้องมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดา สมาชิก โดยวิธีช่วยตนเองและช่วยเหลือ ซึ่งกันและกันตามหลักการสหกรณ์ และต้อง
(๑) มีกิจการร่วมกันตามประเภทของสหกรณ์ที่ขอจดทะเบียน
(๒) มีสมาชิกเป็นบุคคลธรรมดาและบรรลุนิติภาวะ
(๓) มีทุนซึ่งแบ่งเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่า ๆ กัน และสมาชิกแต่ละคนจะต้องถือหุ้นอย่างน้อยหนึ่งหุ้น แต่ไม่เกินหนึ่งในห้าของหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมด
(๔) มีสมาชิกซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในข้อบังคับภายใต้บทบัญญัติมาตรา ๔๓(๗)
ประเภทของสหกรณ์ที่จะรับจดทะเบียนให้กำหนดโดยกฎกระทรวง **ยกเลิก
มาตรา ๓๓/๑ สหกรณ์ที่จะรับจดทะเบียนตามมาตรา ๓๓ แบ่งประเภทได้ ดังต่อไปนี้
(๑) สหกรณ์การเกษตร
(๒) สหกรณ์ประมง
(๓) สหกรณ์นิคม
(๔) สหกรณ์ร้านค้า
(๕) สหกรณ์บริการ
(๖) สหกรณ์ออมทรัพย์
(๗) สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน
(๘) สหกรณ์อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ลักษณะของสหกรณ์ที่จะรับจดทะเบียน วัตถุประสงค์ และขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการที่จะพึงดำเนินการได้ของสหกรณ์แต่ละประเภทตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๓๔ ผู้ซึ่งประสงค์จะเป็นสมาชิกของสหกรณ์ที่จะขอจัดตั้งขึ้นต้องประชุมกันเพื่อ คัดเลือกผู้ที่มาประชุมให้เป็นคณะผู้จัดตั้งสหกรณ์จำนวนไม่น้อยกว่าสิบคน เพื่อดำเนินการจัดตั้งสหกรณ์ โดยให้คณะผู้จัดตั้งสหกรณ์ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) พิจารณาเลือกประเภทของสหกรณ์ที่จะจัดตั้งตามที่กำหนดในกฎกระทรวงและพิจารณากำหนดวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ที่จะจัดตั้งนั้น
(๒) กำหนดแผนดำเนินการเกี่ยวกับธุรกิจหรือกิจกรรมของสหกรณ์ที่จะจัดตั้งขึ้นตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
(๓) ทำบัญชีรายชื่อผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกพร้อมด้วยจำนวนหุ้นที่แต่ละคนจะถือเมื่อจัดตั้งสหกรณ์แล้ว
(๔) ดำเนินการร่างข้อบังคับภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา ๔๓ และเสนอให้ที่ประชุมผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกพิจารณากำหนดเป็นข้อบังคับของสหกรณ์ ที่จะจัดตั้งขึ้น
มาตรา ๓๕ การขอจดทะเบียนสหกรณ์ ให้คณะผู้จัดตั้งสหกรณ์ลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนตามแบบที่นายทะเบียน สหกรณ์กำหนด ยื่นต่อนายทะเบียนสหกรณ์พร้อมเอกสาร ดังต่อไปนี้
(๑) สำเนารายงานการประชุมตามมาตรา ๓๔ จำนวนสองชุด
(๒) แผนดำเนินการตามมาตรา ๓๔(๒) จำนวนสองชุด
(๓) บัญชีรายชื่อผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกพร้อมลายมือชื่อและจำนวนหุ้นที่แต่ละคนจะถือเมื่อจัดตั้งสหกรณ์แล้วจำนวนสองชุด
(๔) ข้อบังคับตามมาตรา ๓๔(๔) จำนวนสี่ชุด
มาตรา ๓๖ นายทะเบียนสหกรณ์ รองนายทะเบียนสหกรณ์ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้บุคคลใด ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริง หรือให้ส่งเอกสารมาเพื่อประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับการรับจดทะเบียนสหกรณ์ได้
ในการพิจารณารายการที่เกี่ยวกับคำขอ หรือรายการในข้อบังคับของสหกรณ์ที่จะจัดตั้งขึ้น ถ้านายทะเบียนสหกรณ์เห็นว่ารายการดังกล่าวไม่ถูกต้อง หรือยังมิได้ดำเนินการตามมาตรา ๓๔ นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจสั่งให้คณะผู้จัดตั้งสหกรณ์แก้ไข หรือดำเนินการให้ถูกต้องได้
มาตรา ๓๗ เมื่อนายทะเบียนสหกรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า สหกรณ์ตามที่ขอจดทะเบียน มีวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๓๓ คำขอจดทะเบียนมีเอกสารครบถ้วนถูกต้องตามมาตรา ๓๕ และการจัดตั้งสหกรณ์ตามที่ขอจดทะเบียนจะไม่เสียหายแก่ระบบสหกรณ์ให้นาย ทะเบียนสหกรณ์รับจดทะเบียนและออกใบสำคัญรับจดทะเบียนให้แก่สหกรณ์นั้น
ให้สหกรณ์ที่ได้จดทะเบียนแล้วมีฐานะเป็นนิติบุคคล
มาตรา ๓๘ ในกรณีที่นายทะเบียนสหกรณ์มีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนให้แจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลเป็นหนังสือไปยังคณะผู้จัดตั้งสหกรณ์โดยไม่ชักช้า
คณะผู้จัดตั้งสหกรณ์มีสิทธิยื่นคำอุทธรณ์คำสั่งไม่รับจดทะเบียนต่อคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติโดยยื่นคำอุทธรณ์ต่อนายทะเบียนสหกรณ์ภายในหก สิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติให้เป็นที่สุด **ยกเลิก
มาตรา ๓๙ เมื่อนายทะเบียนสหกรณ์รับจดทะเบียนสหกรณ์แล้ว ให้คณะผู้จัดตั้งสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่และสิทธิเช่นเดียวกับคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์นั้นจนกว่าจะ มีการเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ตามมาตรา ๔๐
ให้ผู้ซึ่งมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้จะเป็นสมาชิกตามมาตรา ๓๔(๓) เป็นสมาชิกสหกรณ์ตั้งแต่วันที่นายทะเบียนสหกรณ์รับจดทะเบียนสหกรณ์และได้ ชำระค่าหุ้นตามจำนวนที่จะถือครบถ้วนแล้ว
ในกรณีที่มีผู้ขอเข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์ภายหลังวันที่นายทะเบียนสหกรณ์ รับจดทะเบียนสหกรณ์ ให้ถือว่าเป็นสมาชิกเมื่อได้ชำระค่าหุ้นตามจำนวนที่จะถือครบถ้วนแล้ว
มาตรา ๔๐ ให้คณะผู้จัดตั้งสหกรณ์นัดสมาชิกมาประชุมกันเป็นการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรก ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่จดทะเบียนสหกรณ์ เพื่อตั้งคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์และมอบหมายการทั้งปวงให้แก่คณะกรรมการ ดำเนินการสหกรณ์
มาตรา ๔๑ สหกรณ์ตามมาตรา ๓๓/๑ อาจรับสมาชิกสมทบได้
สมาชิกสมทบต้องเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งบรรลุนิติภาวะ เว้นแต่สหกรณ์ตาม มาตรา ๓๓/๑ (๔) (๖) หรือ (๗) ที่ตั้งอยู่ในสถานศึกษาอาจรับผู้ศึกษาในสถานศึกษานั้นซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะให้เป็นสมาชิกสมทบได้
สมาชิกสมทบต้องมีความสัมพันธ์กับสหกรณ์หรือสมาชิกสหกรณ์ตามหลักเกณฑ์ที่นายทะเบียนสหกรณ์ประกาศกำหนด
คุณสมบัติอื่น วิธีรับสมัคร และการขาดจากสมาชิกภาพ ตลอดจนสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกสมทบ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับโดยความเห็นชอบของนายทะเบียนสหกรณ์
ห้ามมิให้สหกรณ์ให้สิทธิแก่สมาชิกสมทบในการนับชื่อของสมาชิกสมทบเข้าเป็นองค์ประชุมในการประชุมใหญ่ การออกเสียงในเรื่องใด ๆ หรือเป็นกรรมการดำเนินการ หรือกู้ยืมเงินเกินกว่าเงินฝากและทุนเรือนหุ้นของตนเองจากสหกรณ์
มาตรา ๔๒ ในการชำระค่าหุ้น สมาชิกจะนำค่าหุ้นหักกลบลบหนี้กับสหกรณ์ไม่ได้และสมาชิกมีความรับผิดเพียง ไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือ
ในระหว่างที่สมาชิกภาพของสมาชิกยังไม่สิ้นสุดลง ห้ามมิให้เจ้าหนี้ของสมาชิกใช้สิทธิเรียกร้องหรืออายัดค่าหุ้นของสมาชิกผู้นั้น และ เมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง สหกรณ์มีสิทธิ์นำเงินตามมูลค่าหุ้นที่สมาชิกมีอยู่มาหักกลบลบหนี้ที่สมาชิก ผูกพันต้องชำระหนี้แก่สหกรณ์ได้ และให้สหกรณ์มีสถานะเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิพิเศษเหนือเงินค่าหุ้นนั้น
มาตรา ๔๒/๑ เมื่อสมาชิกได้ทำความยินยอมเป็นหนังสือไว้กับสหกรณ์ ให้ผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานของรัฐ หรือนายจ้างในสถานประกอบการ หรือหน่วยงานอื่นใดที่สมาชิกปฏิบัติหน้าที่อยู่หักเงินเดือนหรือค่าจ้าง หรือเงินอื่นใด ที่ถึงกำหนดจ่ายแก่สมาชิกนั้น เพื่อชำระหนี้หรือภาระผูกพันอื่นที่มีต่อสหกรณ์ ให้แก่สหกรณ์ตามจำนวนที่สหกรณ์แจ้งไป ให้หน่วยงานนั้นหักเงินดังกล่าวและส่งเงินที่หักไว้นั้นให้แก่สมาชิกโดยพลัน
การแสดงเจตนายินยอมตามวรรคหนึ่ง มิอาจจะถอนคืนได้ เว้นแต่สหกรณ์จะให้ความยินยอม
การ หักเงินตามวรรคหนึ่ง ต้องหักให้สหกรณ์เป็นลำดับแรก ถัดจากหนี้ภาษีอากรและการหักเงินเข้ากองทุนที่สมาชิกต้องถูกหักตามกฎหมายว่า ด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม
มาตรา ๔๒/๒ สมาชิกอาจทำหนังสือตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้รับโอนประโยชน์ในเงินค่า หุ้น เงินฝาก หรือเงินอื่นใดจากสหกรณ์เมื่อตนถึงแก่ความตาย โดยมอบไว้ให้แก่สหกรณ์เป็นหลักฐาน
ส่วนที่ ๒
ข้อบังคับและการแก้ไขเพิ่มเติม
มาตรา ๔๓ ข้อบังคับของสหกรณ์อย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อสหกรณ์ ซึ่งต้องมีคำว่า "จำกัด" อยู่ท้ายชื่อ
(๒) ประเภทของสหกรณ์
(๓) วัตถุประสงค์
(๔) ที่ตั้งสำนักงานใหญ่และที่ตั้งสำนักงานสาขา
(๕) ทุนซึ่งแบ่งเป็นหุ้น มูลค่าของหุ้น การชำระค่าหุ้นด้วยเงินหรือทรัพย์สินอื่น การขาย และการโอนหุ้น ตลอดจนการจ่ายคืนค่าหุ้น
(๖) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินงาน การบัญชี และการเงินของสหกรณ์
(๗) คุณสมบัติของสมาชิก วิธีรับสมาชิก การขาดจากสมาชิกภาพ ตลอดจนสิทธิหน้าที่ของสมาชิก
(๘) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการประชุมใหญ่
(๙) การเลือกตั้ง การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งและการประชุมของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์
(๑๐) การแต่งตั้ง การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การกำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้จัดการ
มาตรา ๔๔ การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ จะกระทำได้ก็แต่โดยมติของที่ประชุมใหญ่ และต้องนำข้อบังคับที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนสหกรณ์ภาย ในสามสิบวันนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ลงมติ เมื่อนายทะเบียนสหกรณ์ได้จดทะเบียนแล้ว ให้มีผลใช้บังคับได้
ในกรณีที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับโดยการเปลี่ยนชื่อสหกรณ์ ให้สหกรณ์คืนใบสำคัญรับจดทะเบียน และให้นายทะเบียนสหกรณ์ออกใบสำคัญรับจดทะเบียนการเปลี่ยนชื่อให้แก่สหกรณ์ ด้วย
การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับและการเปลี่ยนชื่อของสหกรณ์นั้น ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิ หรือความรับผิดใด ๆ ของสหกรณ์
ให้นำความในมาตรา ๓๖ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๓๘ มาใช้บังคับแก่การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๔๕ ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการตีความในข้อบังคับ ให้สหกรณ์ขอคำวินิจฉัยจากนายทะเบียนสหกรณ์ และให้สหกรณ์ถือปฏิบัติตามคำวินิจฉัยนั้น
ส่วนที่ ๓
การดำเนินงานของสหกรณ์
มาตรา ๔๖ เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ให้สหกรณ์มีอำนาจกระทำการ ดังต่อไปนี้ได้
(๑) ดำเนินธุรกิจ การผลิต การค้า การบริการ และอุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์ของสมาชิก
(๒) ให้สวัสดิการหรือการสงเคราะห์ตามสมควรแก่สมาชิกและครอบครัว
(๓) ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่สมาชิก
(๔) ขอหรือรับความช่วยเหลือทางวิชาการจากทางราชการ หน่วยงานของต่างประเทศ หรือบุคคลอื่นใด
(๕) รับฝากเงินประเภทออมทรัพย์หรือประเภทประจำจากสมาชิกหรือสหกรณ์อื่น หรือสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ซึ่งมีสมาชิกของสมาคมนั้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์ผู้รับฝากเงิน หรือนิติบุคคลซึ่งมีบุคลากรหรือลูกจ้างไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้น เป็นสมาชิกของสหกรณ์ผู้รับฝากเงิน ทั้งนี้ตามระเบียบของสหกรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์
(๖) ให้กู้ ให้สินเชื่อ ให้ยืม ให้เช่า ให้เช่าซื้อ โอน รับจำนองหรือรับจำนำ ซึ่งทรัพย์สินแก่สมาชิกหรือของสมาชิก
(๗) จัดให้ได้มา ซื้อ ถือกรรมสิทธิ์หรือทรัพยสิทธิ ครอบครอง กู้ ยืม เช่า เช่าซื้อ รับโอนสิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อ จำนอง หรือจำนำ ขาย หรือจำหน่ายด้วยวิธีอื่นใดซึ่งทรัพย์สิน
(๘) ให้สหกรณ์อื่นกู้ยืมเงินได้ตามระเบียบของสหกรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์
(๙) ดำเนินกิจการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับ หรือเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์
มาตรา ๔๗ การกู้ยืมเงินหรือการค้ำประกันของสหกรณ์ จะต้องจำกัดอยู่ภายในวงเงินที่นายทะเบียนสหกรณ์เห็นชอบ
มาตรา ๔๘ ให้สหกรณ์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๔๙ การรับเงินอุดหนุน หรือทรัพย์สินจากทางราชการ หน่วยงานของต่างประเทศหรือบุคคลอื่นใด ถ้าการให้เงินอุดหนุนหรือทรัพย์สินนั้น กำหนดไว้เพื่อการใดให้ใช้เพื่อการนั้น แต่ถ้ามิได้กำหนดไว้ ให้จัดสรรเงินอุดหนุนหรือทรัพย์สินนั้นเป็นทุนสำรองของสหกรณ์
มาตรา ๕๐ ให้สหกรณ์มีคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ประกอบด้วย ประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่เกินสิบสี่คนซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิก
คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปีนับแต่วันเลือกตั้ง ในวาระเริ่มแรกเมื่อครบหนึ่งปีนับแต่วันเลือกตั้ง ให้กรรมการดำเนินการสหกรณ์ออกจากตำแหน่งเป็นจำนวนหนึ่งในสองของกรรมการ ดำเนินการสหกรณ์ทั้งหมดโดยวิธีจับฉลาก และให้ถือว่าเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ
กรรมการดำเนินการสหกรณ์ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับเลือกตั้งอีกได้ แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
ในกรณีที่มีการเลือกตั้งกรรมการดำเนินการสหกรณ์แทนตำแหน่งที่ว่างให้ กรรมการ ดำเนินการสหกรณ์ที่ได้รับเลือกตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของ ผู้ที่ตนแทน
มาตรา ๕๑ ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินกิจการ และเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคน หรือผู้จัดการทำการแทนก็ได้
มาตรา ๕๑/๑ ในการดำเนินกิจการของสหกรณ์ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการที่จะพึงดำเนินการได้ของสหกรณ์ ข้อบังคับของสหกรณ์ และมติที่ประชุมใหญ่ ทั้งนี้ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก
มาตรา ๕๑/๒ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ต้องรับผิดร่วมกันในความเสียหายต่อสหกรณ์ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ
(๒) ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์
(๓) ดำเนินกิจการนอกขอบวัตถุประสงค์ หรือขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการ ที่จะพึงดำเนินการได้ของสหกรณ์
เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ผู้ใดมีส่วนร่วมในการกระทำของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์ เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ผู้นั้นต้องรับผิดร่วมกันกับคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ในความเสียหายต่อสหกรณ์
มาตรา ๕๑/๓ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา ๕๑/๒ ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) พิสูจน์ได้ว่าตนมิได้ร่วมกระทำการอันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์
(๒) ได้คัดค้านในที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โดยปรากฏในรายงานการประชุมหรือได้ทำคำคัดค้านเป็นหนังสือยื่นต่อประธานที่ประชุมภายในสามวันนับแต่สิ้นสุดการประชุม
มาตรา ๕๒ ห้ามมิให้บุคคลซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นหรือทำหน้าที่กรรมการหรือผู้จัดการ
(๑) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๒) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ องค์การหรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ฐานทุจริตต่อหน้าที่
(๓) เคยถูกให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการหรือมีคำวินิจฉัยเป็นที่สุดให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการตามมาตรา ๒๒(๔)
(๔) เคยถูกที่ประชุมใหญ่มีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งกรรมการเพราะเหตุทุจริตต่อหน้าที่
(๕) เคยถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการหรือผู้จัดการตามมาตรา ๘๙/๓ วรรคสอง
(๖) เป็นกรรมการหรือผู้จัดการในสหกรณ์ที่ถูกสั่งเลิกตามมาตรา ๘๙/๓ วรรคสอง
(๗) เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามระเบียบที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
มาตรา ๕๓ ให้สหกรณ์มีผู้ตรวจสอบกิจการ ซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิกหรือบุคคลภายนอก เพื่อดำเนินการตรวจสอบกิจการของสหกรณ์แล้วทำรายงานเสนอต่อที่ประชุมใหญ่
จำนวน คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วิธีการรับสมัคร และการขาดจากการเป็นผู้ตรวจสอบกิจการ ตลอดจนอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจสอบกิจการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด โดยอาจกำหนดให้แตกต่างกันตามขนาดและประเภทของสหกรณ์ก็ได้
มาตรา ๕๔ ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เรียกประชุมใหญ่สามัญปีละหนึ่งครั้งภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์นั้น
มาตรา ๕๖ สหกรณ์ใดมีสมาชิกเกินกว่าห้าร้อยคน จะกำหนดในข้อบังคับให้มีการประชุมใหญ่โดยผู้แทนสมาชิกก็ได้ จำนวนผู้แทนสมาชิกจะมีน้อยกว่าหนึ่งร้อยคนไม่ได้
วิธีการเลือกตั้งผู้แทนสมาชิก จำนวนผู้แทนสมาชิกและการดำรงตำแหน่งให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับ
มาตรา ๕๗ การประชุมใหญ่ของสหกรณ์ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน สมาชิกทั้งหมดหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคนในกรณีเป็นการประชุมใหญ่โดยผู้แทน สมาชิก ต้องมีผู้แทนสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้แทนสมาชิกทั้ง หมดหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน จึงจะเป็นองค์ประชุม
ในการประชุมใหญ่ สมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกจะมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาประชุมแทนตนไม่ได้
มาตรา ๕๘ ในการประชุมใหญ่ของสหกรณ์ ถ้าสมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกแล้วแต่กรณี มาประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้นัดประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่งภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่นัดประชุมใหญ่ ครั้งแรก ในการประชุมครั้งหลังนี้ ถ้ามิใช่การประชุมใหญ่วิสามัญที่สมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกร้องขอให้เรียก ประชุมแล้ว เมื่อมีสมาชิกหรือผู้แทนสมาชิก แล้วแต่กรณีมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกหรือผู้แทนสมาชิก ทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่าสามสิบคน ก็ให้ถือว่าเป็นองค์ประชุม
มาตรา ๕๙ สมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมใหญ่ให้ถือเสียงข้างมาก เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้ ให้ถือเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกซึ่งมาประชุม
(๑) การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ
(๒) การควบสหกรณ์
(๓) การแยกสหกรณ์
(๔) การเลิกสหกรณ์
(๕) การอื่นใดที่ข้อบังคับกำหนดให้ใช้เสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกซึ่งมาประชุม
มาตรา ๖๐ ในการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์ ให้จัดสรรเป็นทุนสำรองไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของกำไรสุทธิ และเป็นค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ต้องไม่เกินร้อยละห้าของกำไรสุทธิ
กำไรสุทธิประจำปีที่เหลือจากการจัดสรรเป็นทุนสำรองและค่าบำรุงสันนิบาต สหกรณ์แห่งประเทศไทย ที่ประชุมใหญ่อาจจัดสรรได้ภายใต้ข้อบังคับ ดังต่อไปนี้
(๑) จ่ายเป็นเงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้ว แต่ต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง สำหรับสหกรณ์แต่ละประเภท
(๒) จ่ายเป็นเงินเฉลี่ยคืนให้แก่สมาชิกตามส่วนธุรกิจที่สมาชิกได้ทำไว้กับสหกรณ์ในระหว่างปี
(๓) จ่ายเป็นเงินโบนัสแก่กรรมการและเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิ
(๔) จ่ายเป็นทุนสะสมไว้ เพื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดของสหกรณ์ตามที่กำหนดในข้อบังคับ
มาตรา ๖๑ ทุนสำรองตามมาตรา ๖๐ วรรคหนึ่ง จะถอนจากบัญชีทุนสำรองได้เพื่อชดเชยการขาดทุนหรือเพื่อจัดสรรเข้าบัญชีเงิน สำรองให้แก่สหกรณ์ใหม่ที่ได้จดทะเบียนแบ่งแยกจากสหกรณ์เดิมตามมาตรา ๑๐๐
มาตรา ๖๒ เงินของสหกรณ์นั้น สหกรณ์อาจฝากหรือลงทุนได้ ดังต่อไปนี้
(๑) ฝากในชุมนุมสหกรณ์หรือสหกรณ์อื่น
(๒) ฝากในธนาคาร หรือฝากในสถาบันการเงินที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สหกรณ์
(๓) ซื้อหลักทรัพย์ของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ
(๔) ซื้อหุ้นของธนาคารที่วัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สหกรณ์
(๕) ซื้อหุ้นของชุมนุมสหกรณ์หรือสหกรณ์อื่น
(๖) ซื้อหุ้นของสถาบันที่ประกอบธุรกิจอันทำให้เกิดความสะดวกหรือส่งเสริมความ เจริญแก่กิจการของสหกรณ์โดยได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์
(๗) ฝากหรือลงทุนอย่างอื่นตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนด
มาตรา ๖๓ ให้สหกรณ์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการขายหรือแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรที่ สมาชิกผลิตขึ้น พิจารณาซื้อหรือรวบรวมผลิตผลจากสมาชิกก่อนผู้อื่น
มาตรา ๖๔ ให้สหกรณ์จัดทำทะเบียน ดังต่อไปนี้
(๑) ทะเบียนสมาชิกซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการ
(ก) ชื่อ ประเภท และที่ตั้งสำนักงานของสหกรณ์
(ข) ชื่อ สัญชาติ และที่อยู่ของสมาชิก
(ค) วันที่เข้าเป็นสมาชิก
(๒) ทะเบียนหุ้นซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการ
(ก) ชื่อ ประเภท และที่ตั้งสำนักงานของสหกรณ์
(ข) ชื่อของสมาชิกซึ่งถือหุ้น มูลค่าหุ้น จำนวนหุ้น และเงินค่าหุ้นที่ชำระแล้ว
(ค) วันที่ถือหุ้น
ให้สหกรณ์เก็บรักษาทะเบียนตาม (๑) และ (๒) ไว้ที่สำนักงานของสหกรณ์และให้ส่งสำเนาทะเบียนนั้นแก่นายทะเบียนสหกรณ์ภายใน เก้าสิบวันนับแต่วันที่จดทะเบียน
ให้สหกรณ์รายงานการเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียนต่อนายทะเบียนสหกรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์
มาตรา ๖๕ ให้สหกรณ์จัดให้มีการทำบัญชีตามแบบและรายการที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนดให้ถูก ต้องตามความเป็นจริง และเก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไว้ที่สำนักงานสหกรณ์ภายในระยะ เวลาที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
เมื่อมีเหตุต้องบันทึกรายการในบัญชีเกี่ยวกับกระแสเงินสดของสหกรณ์ให้บันทึก รายการในวันที่เกิดเหตุนั้น สำหรับเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวกับกระแสเงินสด ให้บันทึกรายการในสมุดบัญชีภายในสามวันนับแต่วันที่มีเหตุอันจะต้องบันทึก รายการนั้น
การลงรายการบัญชีต้องมีเอกสารประกอบการลงบัญชีที่สมบูรณ์โดยครบถ้วน
มาตรา ๖๖ ให้สหกรณ์จัดทำงบการเงินประจำปีทุกรอบปีทางบัญชีของสหกรณ์
งบการเงินประจำปีต้องเป็นไปตามแบบที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
งบการเงินประจำปีนั้นต้องทำให้แล้วเสร็จและให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วนำเสนอเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชี
มาตรา ๖๗ ให้สหกรณ์จัดทำรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์เสนอต่อที่ประชุมใหญ่ในคราวที่เสนองบการเงินประจำปี และให้ส่งสำเนารายงานประจำปีกับงบการเงินประจำปีไปยังนายทะเบียนสหกรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการประชุม
มาตรา ๖๘ ให้สหกรณ์เก็บรักษารายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์และงบการเงินประจำปี พร้อมทั้งข้อบังคับและกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ไว้ที่สำนักงานของสหกรณ์เพื่อให้ สมาชิกขอตรวจดูได้
ส่วนที่๔
การสอบบัญชี
มาตรา๖๙ ให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์เป็นผู้สอบบัญชีของสหกรณ์ ในการนี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์อาจแต่งตั้งผู้สอบบัญชีรับอนุญาต หรือบุคคลอื่นเป็นผู้สอบบัญชีของสหกรณ์ ตามขนาดของสหกรณ์ก็ได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์กำหนด
การสอบบัญชีนั้น ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานการสอบบัญชีและตามระเบียบที่อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์กำหนด
ส่วนที่ ๕
การเลิกสหกรณ์
มาตรา ๗๐ สหกรณ์ย่อมเลิกด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด ดังต่อไปนี้
(๑) มีเหตุตามที่กำหนดในข้อบังคับ
(๒) สหกรณ์มีจำนวนสมาชิกน้อยกว่าสิบคน
(๓) ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้เลิก
(๔) ล้มละลาย
(๕) นายทะเบียนสหกรณ์สั่งให้เลิกตามมาตรา ๗๑
ให้สหกรณ์ที่เลิกตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) แจ้งให้นายทะเบียนสหกรณ์ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เลิก
ให้นายทะเบียนสหกรณ์ปิดประกาศการเลิกสหกรณ์ไว้ที่สำนักงานของสหกรณ์ที่ทำการ สหกรณ์อำเภอ หรือหน่วยส่งเสริมสหกรณ์ และที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตแห่งท้องที่ที่สหกรณ์นั้นตั้งอยู่
มาตรา ๗๑ นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจสั่งเลิกสหกรณ์ได้เมื่อปรากฏว่า
(๑) สหกรณ์ไม่เริ่มดำเนินกิจการภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่จดทะเบียน หรือหยุดดำเนินกิจการติดต่อกันเป็นเวลาสองปีนับแต่วันที่หยุดดำเนินกิจการ
(๒) สหกรณ์ไม่ส่งสำเนารายงานประจำปีกับงบการเงินประจำปีต่อนายทะเบียนสหกรณ์เป็นเวลาสามปีติดต่อกัน
(๓) สหกรณ์ไม่อาจดำเนินกิจการให้เป็นผลดี หรือการดำเนินกิจการของสหกรณ์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์ หรือประโยชน์ส่วนรวม
มาตรา ๗๒ สหกรณ์ที่ถูกสั่งเลิกตามมาตรา ๗๑ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อนายทะเบียนสหกรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับ คำสั่ง และให้นายทะเบียนสหกรณ์ส่งคำอุทธรณ์ต่อไปยังคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่ง ชาติโดยไม่ชักช้า
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติให้เป็นที่สุด
** ยกเลิก
มาตรา ๗๓ เมื่อสหกรณ์ใดเลิกไปด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๗๐ ให้จัดการชำระบัญชีตามบทบัญญัติในหมวด ๔ ว่าด้วยการชำระบัญชี
หมวด ๔
การชำระบัญชี
มาตรา ๗๔ การชำระบัญชีสหกรณ์ที่ล้มละลายนั้น ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย
มาตรา ๗๕ การชำระบัญชีสหกรณ์ที่เลิกเพราะเหตุอื่นนอกจากล้มละลาย ให้ที่ประชุมใหญ่ตั้งผู้ชำระบัญชีโดยได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ขึ้นทำการชำระบัญชีสหกรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เลิกสหกรณ์ หรือนับแต่วันที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่ที่ประชุมใหญ่ไม่เลือกตั้งผู้ชำระบัญชีภายในกำหนดเวลาดังกล่าว หรือนายทะเบียนสหกรณ์ ไม่ให้ความเห็นชอบในการเลือกตั้งผู้ชำระบัญชี ให้นายทะเบียนสหกรณ์ตั้งผู้ชำระบัญชีขึ้นทำการชำระบัญชีสหกรณ์ได้
เมื่อนายทะเบียนสหกรณ์เห็นสมควรหรือเมื่อสมาชิกมีจำนวนไม่น้อยกว่าสองในสาม ของสมาชิกทั้งหมดร้องขอต่อนายทะเบียนสหกรณ์ นายทะเบียนสหกรณ์จะแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีคนใหม่แทนผู้ชำระบัญชีซึ่งได้รับ เลือกตั้งหรือซึ่งได้ตั้งไว้ก็ได้
ให้นายทะเบียนสหกรณ์จดทะเบียนผู้ชำระบัญชีซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์ให้ความเห็น ชอบตามวรรคหนึ่ง หรือผู้ชำระบัญชีซึ่งได้รับแต่งตั้งตามวรรคสองหรือวรรคสาม และให้ปิดประกาศชื่อผู้ชำระบัญชีไว้ที่สำนักงานของสหกรณ์นั้น สำนักงานสหกรณ์อำเภอหรือหน่วยส่งเสริมสหกรณ์ และที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตแห่งท้องที่ที่สหกรณ์นั้นตั้งอยู่ภายในสิบ สี่วันนับแต่วันที่จดทะเบียนผู้ชำระบัญชี
ผู้ชำระบัญชีอาจได้รับค่าตอบแทนตามที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
มาตรา ๗๖ สหกรณ์นั้นแม้จะได้เลิกไปแล้วก็ให้พึงถือว่ายังคงดำรงอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี
มาตรา ๗๗ ให้ผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ชำระสะสางกิจการของสหกรณ์ จัดการชำระหนี้และจำหน่ายทรัพย์สินของสหกรณ์นั้นให้เสร็จไป
มาตรา ๗๘ เมื่อสหกรณ์เลิก ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์และเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์มีหน้าที่จัดการรักษา ทรัพย์สินทั้งหมดของสหกรณ์ไว้จนกว่าผู้ชำระบัญชีจะเรียกให้ส่งมอบ
ผู้ชำระบัญชีจะเรียกให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์หรือเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ ส่งมอบทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งพร้อมด้วยสมุดบัญชี เอกสาร และสิ่งอื่นเมื่อใดก็ได้
มาตรา ๗๙ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่นายทะเบียนสหกรณ์จดทะเบียนผู้ชำระบัญชีให้ผู้ ชำระบัญชีประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อยสองวันติดต่อกัน หรือประกาศโฆษณาทางอื่นว่าสหกรณ์ได้เลิก และแจ้งเป็นหนังสือไปยังเจ้าหนี้ทุกคน ซึ่งมีชื่อปรากฏในสมุดบัญชี เอกสารของสหกรณ์หรือปรากฏจากทางอื่น เพื่อให้ทราบว่าสหกรณ์นั้นเลิก และให้เจ้าหนี้ยื่นคำทวงหนี้แก่ผู้ชำระบัญชี
มาตรา ๘๐ ผู้ชำระบัญชีต้องทำงบการเงินของสหกรณ์ ณ วันที่เลิกสหกรณ์ โดยไม่ชักช้า และให้นายทะเบียนสหกรณ์ตั้งผู้สอบบัญชีเพื่อตรวจสอบงบการเงินนั้น
เมื่อผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นต่องบการเงินแล้ว ให้ผู้ชำระบัญชีเสนองบการเงิน ต่อที่ประชุมใหญ่เพื่ออนุมัติ แล้วเสนองบการเงินนั้นต่อนายทะเบียนสหกรณ์
ในกรณีที่การประชุมใหญ่ไม่ครบองค์ประชุม ให้ผู้ชำระบัญชีเสนองบการเงิน ต่อนายทะเบียนสหกรณ์เพื่ออนุมัติผู้ชำระบัญชีต้องทำงบดุลของสหกรณ์โดยไม่ชักช้า และให้นายทะเบียนสหกรณ์ตั้งผู้สอบบัญชีเพื่อตรวจสอบงบดุลนั้น
มาตรา ๘๑ ผู้ชำระบัญชีมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ดำเนินกิจการของสหกรณ์เท่าที่จำเป็นเพื่อระวังรักษาผลประโยชน์ของสหกรณ์ในระหว่างที่ยังชำระบัญชีไม่เสร็จ
(๒) ดำเนินกิจการของสหกรณ์เท่าที่จำเป็นเพื่อชำระสะสางกิจการให้เสร็จไปด้วยดี
(๓) เรียกประชุมใหญ่
(๔) ดำเนินการทั้งปวงเกี่ยวกับคดีแพ่งหรือคดีอาญา และประนีประนอมยอมความในเรื่องใด ๆในนามของสหกรณ์
(๕) จำหน่ายทรัพย์สินของสหกรณ์
(๖) เรียกให้สมาชิกหรือทายาทของสมาชิกผู้ตายชำระค่าหุ้นที่ยังชำระไม่ครบมูลค่าของหุ้นทั้งหมด
(๗) ร้องขอต่อศาลเพื่อสั่งให้สหกรณ์ล้มละลายในกรณีที่เงินค่าหุ้นหรือเงินลงทุน ได้ใช้เสร็จแล้วแต่ทรัพย์สินก็ยังไม่เพียงพอแก่การชำระหนี้สิน
(๘) ดำเนินการอย่างอื่นเท่าที่จำเป็นเพื่อให้การชำระบัญชีเสร็จสิ้น
มาตรา ๘๒ ข้อจำกัดอำนาจของผู้ชำระบัญชีอย่างใด ๆ ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก ผู้กระทำการโดยสุจริต
มาตรา ๘๓ ค่าธรรมเนียม ค่าภาระติดพัน และค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียตามสมควรในการชำระบัญชีนั้น ผู้ชำระบัญชีต้องจัดการชำระก่อนหนี้รายอื่น
มาตรา ๘๔ ถ้าเจ้าหนี้คนใดมิได้ทวงถามให้ชำระหนี้ ผู้ชำระบัญชีต้องวางเงินสำหรับจำนวนหนี้นั้นไว้ต่อนายทะเบียนสหกรณ์เพื่อ ประโยชน์แก่เจ้าหนี้ และให้ผู้ชำระบัญชีมีหนังสือแจ้งการที่ได้วางเงินไปยังเจ้าหนี้โดยไม่ชักช้า
ถ้าเจ้าหนี้ไม่รับเงินไปจนพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่ผู้ชำระบัญชีวางเงินไว้ ต่อนายทะเบียนสหกรณ์ เจ้าหนี้ย่อมหมดสิทธิในเงินจำนวนนั้น และให้นายทะเบียนสหกรณ์จัดส่งเป็นรายได้ของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยให้ เสร็จภายในเวลาอันสมควร
มาตรา ๘๕ ให้ผู้ชำระบัญชีเสนอรายงานต่อนายทะเบียนสหกรณ์ทุกระยะหกเดือนว่าได้จัดการไป อย่างใดบ้างและแสดงให้เห็นความเป็นไปของบัญชีที่ชำระอยู่นั้นรายงานดังกล่าว นี้ให้ทำตามแบบที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
รายงานตามวรรคหนึ่งให้สมาชิก ทายาทของสมาชิกผู้ตาย และเจ้าหนี้ทั้งหลายของสหกรณ์ตรวจดูได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
ถ้าปรากฏข้อบกพร่องในการชำระบัญชี นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจสั่งให้ผู้ชำระบัญชีแก้ไขข้อบกพร่อง และรายงานต่อนายทะเบียนสหกรณ์ภายในเวลาที่กำหนด
มาตรา ๘๖ เมื่อได้ชำระหนี้ของสหกรณ์แล้ว ถ้ามีทรัพย์สินเหลืออยู่เท่าใดให้ผู้ชำระบัญชีจ่ายตามลำดับ ดังต่อไปนี้
(๑) จ่ายคืนเงินค่าหุ้นให้แก่สมาชิกไม่เกินมูลค่าหุ้นที่ชำระแล้ว
(๒) จ่ายเป็นเงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้วแต่ต้องไม่เกินอัตราที่นายทะเบียน สหกรณ์กำหนดตามความเห็นชอบของคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติสำหรับสหกรณ์ แต่ละประเภท
(๓) จ่ายเป็นเงินเฉลี่ยคืนให้แก่สมาชิกตามส่วนธุรกิจที่สมาชิกได้ทำไว้กับสหกรณ์ในระหว่างปีตามที่กำหนดในข้อบังคับ
ถ้ายังมีทรัพย์สินเหลืออยู่อีก ให้ผู้ชำระบัญชีโอนให้แก่สหกรณ์อื่น หรือสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ตามมติของที่ประชุมใหญ่ หรือด้วยความเห็นชอบของนายทะเบียนสหกรณ์ในกรณีที่ไม่อาจเรียกประชุมใหญ่ได้ ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ชำระบัญชีเสร็จ
มาตรา ๘๗ เมื่อได้ชำระบัญชีกิจการของสหกรณ์เสร็จแล้ว ให้ผู้ชำระบัญชีทำรายงานการชำระบัญชีพร้อมทั้งรายการย่อของบัญชีที่ชำระนั้น แสดงว่าได้ดำเนินการชำระบัญชีและจัดการทรัพย์สินของสหกรณ์ไปอย่างใด รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการชำระบัญชี และจำนวนทรัพย์สินที่จ่ายตามมาตรา ๘๖ เสนอต่อผู้สอบบัญชี
เมื่อผู้สอบบัญชีตรวจสอบและรับรองบัญชีที่ชำระนั้นแล้ว ให้ผู้ชำระบัญชีเสนอต่อนายทะเบียนสหกรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้สอบ บัญชีรับรองบัญชีที่ชำระนั้น เมื่อนายทะเบียนสหกรณ์เห็นชอบด้วยแล้ว ให้ถือว่าเป็นที่สุดแห่งการชำระบัญชี และให้นายทะเบียนสหกรณ์ถอนชื่อสหกรณ์ออกจากทะเบียน
มาตรา ๘๘ เมื่อนายทะเบียนสหกรณ์ให้ความเห็นชอบในการชำระบัญชีตามมาตรา ๘๗ แล้ว ให้ผู้ชำระบัญชีมอบบรรดาสมุดบัญชีและเอกสารทั้งหลายของสหกรณ์ที่ได้ชำระ บัญชีเสร็จแล้วนั้นแก่นายทะเบียนสหกรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่นาย ทะเบียนสหกรณ์ให้ความเห็นชอบ
ให้นายทะเบียนสหกรณ์รักษาสมุดบัญชีและเอกสารเหล่านี้ไว้อีกสองปี นับแต่วันที่ถอนชื่อสหกรณ์นั้นออกจากทะเบียน
สมุดบัญชีและเอกสารตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีส่วนได้เสียตรวจดูได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
มาตรา ๘๙ ในคดีฟ้องเรียกหนี้สินที่สหกรณ์ สมาชิก หรือผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้อยู่ในฐานะเช่นนั้น ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่นายทะเบียนสหกรณ์ถอนชื่อสหกรณ์ ออกจากทะเบียน
หมวด ๔/๑
การดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน
มาตรา๘๙/๑ เว้นแต่จะได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในหมวดนี้ ให้การดำเนินงาน และการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเป็นไปตามบทบัญญัติในหมวดอื่นด้วย
มาตรา ๘๙/๒ การดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนในเรื่องดังต่อไปนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ อาจกำหนดให้แตกต่างกันไปตามขนาดของสหกรณ์ก็ได้
(๑) การกำหนดขนาดของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน
(๒) การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอื่นของกรรมการดำเนินการสหกรณ์ และผู้จัดการ
(๓) การกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์
(๔) การให้กู้และการให้สินเชื่อ
(๕) การรับฝากเงิน การก่อหนี้ และการสร้างภาระผูกพัน ซึ่งรวมถึงการกู้ยืม หรือการค้ำประกัน
(๖) การดำรงเงินกองทุน
(๗) การบริหารสินทรัพย์และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง
(๘) การฝากเงินหรือการลงทุน
(๙) การกำกับดูแลด้านธรรมาภิบาล
(๑๐) การจัดชั้นสินทรัพย์และการกันเงินสำรอง
(๑๑) การจัดทำบัญชี การจัดทำและการเปิดเผยงบการเงิน การสอบบัญชี และการแต่งตั้งผู้สอบบัญชี
(๑๒) การจัดเก็บและรายงานข้อมูล
(๑๓) เรื่องอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการกำกับดูแล
ในการออกกฎกระทรวงตามวรรคหนึ่งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หารือร่วมกับกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย
มาตรา ๘๙/๓ ในกรณีที่นายทะเบียนสหกรณ์เห็นว่าคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๘๙/๒ ให้นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่อง หรือระงับการดำเนินการนั้นได้
ในกรณีที่นายทะเบียนสหกรณ์เห็นว่าการกระทำตามวรรคหนึ่งนั้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสหกรณ์หรือสมาชิก ให้นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการนั้น พ้นจากตำแหน่ง หรือสั่งให้เลิกสหกรณ์ดังกล่าวได้ แล้วแต่กรณี และให้นำมาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ และมาตรา ๗๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๘๙/๔ เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการที่ปรึกษาการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นกรรมการ
ให้อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์แต่งตั้งข้าราชการในสังกัดกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นเลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ
ให้คณะกรรมการที่ปรึกษาการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำ เสนอมาตรการแก้ไขปัญหา และเสนอให้ปรับปรุงระเบียบหรือคำสั่ง เกี่ยวกับการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแก่นายทะเบียนสหกรณ์
ให้นำมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะกรรมการที่ปรึกษาการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนโดยอนุโลม
หมวด ๕
การควบสหกรณ์เข้ากัน
มาตรา ๙๐ สหกรณ์ตั้งแต่สองสหกรณ์อาจควบเข้ากันเป็นสหกรณ์เดียวได้ โดยมติแห่งที่ประชุมใหญ่ของแต่ละสหกรณ์ และต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์
ในการขอความเห็นชอบของนายทะเบียนสหกรณ์ให้ส่งสำเนารายงานการประชุมใหญ่ของสหกรณ์ที่ลงมติให้ควบเข้ากันไปด้วย
มาตรา ๙๑ เมื่อนายทะเบียนสหกรณ์ให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๙๐ แล้ว ให้สหกรณ์แจ้งเป็นหนังสือไปยังเจ้าหนี้ทั้งปวงของสหกรณ์เพื่อให้ทราบรายการ ที่ประสงค์จะควบสหกรณ์เข้ากัน และขอให้เจ้าหนี้ผู้มีข้อคัดค้านในการควบสหกรณ์เข้ากันนั้นส่งคำคัดค้านไป ยังสหกรณ์ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
ถ้ามีเจ้าหนี้คัดค้าน สหกรณ์จะควบเข้ากันมิได้ จนกว่าจะได้ชำระหนี้แล้วได้ให้ประกันเพื่อหนี้รายนั้น
มาตรา ๙๒ ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ของแต่ละสหกรณ์ที่ควบเข้ากันตั้งผู้แทนขึ้น สหกรณ์ละไม่เกินสามคนเพื่อดำเนินการจดทะเบียนตามมาตรา ๙๓
มาตรา ๙๓ สหกรณ์ที่ตั้งขึ้นใหม่โดยควบเข้ากันนั้น ต้องจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ใหม่ โดยยื่นคำขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนสหกรณ์ตามแบบที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
ในคำขอจดทะเบียนสหกรณ์ใหม่ ต้องมีผู้แทนของสหกรณ์ที่ควบเข้ากันลงลายมือชื่ออย่างน้อยสหกรณ์ละสองคนทุกสหกรณ์
คำขอจดทะเบียนสหกรณ์ใหม่ ต้องมีเอกสารดังต่อไปนี้ยื่นพร้อมกับคำขอด้วย
(๑) หนังสือของทุกสหกรณ์ที่ควบเข้ากันนั้นรับรองว่าได้แจ้งไปยังเจ้าหนี้ทั้งปวง ตามมาตรา ๙๑ วรรคหนึ่ง และไม่มีเจ้าหนี้คัดค้านภายในกำหนด หรือในกรณีที่มีเจ้าหนี้คัดค้านสหกรณ์ได้ชำระหนี้ หรือได้ให้ประกันเพื่อหนี้รายนั้นแล้ว
(๒) ข้อบังคับของสหกรณ์ใหม่ที่ขอจดทะเบียนสี่ฉบับ
(๓) สำเนารายงานการประชุมผู้แทนของสหกรณ์ที่ควบเข้ากันหนึ่งฉบับ
เอกสารตาม (๒) และ (๓) นั้น ผู้แทนของสหกรณ์ต้องลงลายมือชื่อรับรองสองคน
มาตรา ๙๔ เมื่อนายทะเบียนสหกรณ์รับจดทะเบียนสหกรณ์ที่ควบเข้ากันเป็นสหกรณ์ใหม่แล้ว ให้นายทะเบียนสหกรณ์ถอนชื่อสหกรณ์เดิมที่ได้ควบเข้ากันนั้นออกจากทะเบียน
ให้ผู้แทนของสหกรณ์ที่ควบเข้ากันมีอำนาจหน้าที่และสิทธิเช่นเดียวกับคณะ กรรมการดำเนินการสหกรณ์จนกว่าจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ตาม มาตรา ๔๐
มาตรา ๙๕ สหกรณ์ใหม่นี้ย่อมได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้สิน สิทธิ และความรับผิดของสหกรณ์เดิมที่ได้ควบเข้ากันนั้นทั้งสิ้น
หมวด ๖
การแยกสหกรณ์
มาตรา ๙๖ การแยกสหกรณ์จะกระทำมิได้ แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเขตการปกครองท้องที่ หรือแบ่งหน่วยงาน หรือสถานประกอบการ จะแยกสหกรณ์ก็ได้หากมีความจำเป็นหรือมีเหตุให้ไม่สะดวกแก่การดำเนินงาน
การแยกสหกรณ์ตามวรรคหนึ่งจะกระทำได้โดยสมาชิกของสหกรณ์นั้นจำนวนไม่น้อยกว่า หนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่าห้าร้อยคนลงลายมือชื่อทำหนังสือร้องขอแยกสหกรณ์ต่อคณะ กรรมการดำเนินการสหกรณ์
ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เรียกประชุมใหญ่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้ รับคำร้องขอตามวรรคสอง เพื่อพิจารณาเรื่องการแยกสหกรณ์ ถ้าที่ประชุมใหญ่ได้มีมติเห็นชอบให้แยกสหกรณ์ให้พิจารณาแบ่งแยกทรัพย์สิน ทุน ทุนสำรอง หนี้สิน สิทธิ และความรับผิดของสหกรณ์ตามวิธีการที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
การวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องต่าง ๆ ของที่ประชุมใหญ่ตามวรรคสาม ให้ถือเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกที่มาประชุม
ถ้าคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ไม่เรียกประชุมใหญ่ภายในกำหนดเวลาตามวรรคสาม ให้นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่ภายในระยะเวลาตามที่เห็นสมควร
มาตรา ๙๗ ในกรณีที่ที่ประชุมใหญ่ได้มีมติไม่เห็นชอบให้แยกสหกรณ์ ถ้าสมาชิกซึ่งลงลายมือชื่อ ทำหนังสือร้องขอแยกสหกรณ์ตามมาตรา ๙๖ วรรคสอง พิจารณาแล้วไม่เห็นด้วยกับมติที่ประชุมใหญ่นั้น ให้สมาชิกดังกล่าวทุกคนลงลายมือชื่อทำหนังสือถึงนายทะเบียนสหกรณ์ภายในกำหนด เวลาสามสิบวัน นับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ลงมติเพื่อให้นายทะเบียนสหกรณ์พิจารณาวินิจฉัยชี้ ขาดว่าสมควรแยกสหกรณ์หรือไม่ และเมื่อนายทะเบียนสหกรณ์วินิจฉัยชี้ขาดเป็นอย่างไรแล้วให้แจ้งคำวินิจฉัย ให้สหกรณ์ทราบ
คำวินิจฉัยของนายทะเบียนสหกรณ์ให้เป็นที่สุด
มาตรา ๙๘ เมื่อที่ประชุมใหญ่ได้มีมติเห็นชอบตามมาตรา ๙๖ หรือนายทะเบียนสหกรณ์วินิจฉัยชี้ขาดให้แยกสหกรณ์ตามมาตรา ๙๗ แล้ว ให้สหกรณ์แจ้งมติที่ประชุมใหญ่ หรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนสหกรณ์เป็นหนังสือไปยังเจ้าหนี้ทั้งปวงของ สหกรณ์ เพื่อให้ทราบรายการที่ประสงค์จะแยกสหกรณ์ และให้เจ้าหนี้ผู้มีข้อคัดค้านในการแยกสหกรณ์นั้นส่งคำคัดค้านไปยังสหกรณ์ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
มาตรา ๙๙ สหกรณ์ที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่โดยการแยกจากสหกรณ์เดิมนั้น ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๓ ส่วนที่ ๑ ว่าด้วยการจดทะเบียนสหกรณ์มาใช้บังคับโดยอนุโลม
คำขอจดทะเบียนสหกรณ์ใหม่ ต้องยื่นพร้อมเอกสาร ดังต่อไปนี้
(๑) สำเนาหนังสือร้องขอแยกสหกรณ์ และสำเนารายงานการประชุมใหญ่ที่ได้มีมติเห็นชอบให้แยกสหกรณ์ตามมาตรา ๙๖ วรรคสี่ หรือสำเนาหนังสือนายทะเบียนสหกรณ์ซึ่งวินิจฉัยชี้ขาดให้แยกสหกรณ์ตามมาตรา ๙๗ แล้วแต่กรณี
(๒) สำเนาหนังสือของสหกรณ์ทุกฉบับที่แจ้งไปยังเจ้าหนี้ทั้งปวงของสหกรณ์ตามมาตรา ๙๘
(๓) หนังสือของสหกรณ์ที่รับรองว่าไม่มีเจ้าหนี้คัดค้านภายในกำหนด หรือสำเนาคำคัดค้านของเจ้าหนี้พร้อมทั้งหลักฐานที่แสดงว่าสหกรณ์ได้ชำระหนี้ หรือได้ให้ประกันเพื่อหนี้รายนั้นแล้ว
มาตรา ๑๐๐ บรรดาทรัพย์สิน ทุน ทุนสำรอง หนี้สิน สิทธิ และความรับผิดของสหกรณ์เดิมที่ที่ประชุมใหญ่ได้มีมติให้แบ่งแยกตามมาตรา ๙๖ หรือนายทะเบียนสหกรณ์ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้แบ่งแยกตามมาตรา ๙๗ แล้วแต่กรณี ย่อมโอนไปให้แก่สหกรณ์ใหม่ตั้งแต่วันที่นายทะเบียนสหกรณ์รับจดทะเบียน
หมวด ๗
ชุมนุมสหกรณ์
มาตรา ๑๐๑ สหกรณ์ตั้งแต่ห้าสหกรณ์ขึ้นไปที่ประสงค์จะร่วมกันดำเนินกิจการ เพื่อให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ที่เข้าร่วมกันนั้น อาจรวมกันจัดตั้งเป็นชุมนุมสหกรณ์ได้
ชุมนุมสหกรณ์ใดจะมีฐานะเป็นชุมนุมสหกรณ์ระดับภูมิภาคหรือระดับประเทศ จะต้องตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยประโยชน์แก่บรรดาสหกรณ์ในภูมิภาคหรือทั่วประเทศที่เป็นสหกรณ์ประเภทเดียวกัน หรือต่างประเภทกัน เพื่อประอบธุรกิจของสหกรณ์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนด
มาตรา ๑๐๒ การจัดตั้งชุมนุมสหกรณ์จะกระทำได้ต่อเมื่อที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์แต่ละสหกรณ์ได้มีมติให้เข้าร่วมในการจัดตั้งชุมนุมสหกรณ์นั้นได้
มาตรา ๑๐๓ ในการดำเนินการจัดตั้งชุมนุมสหกรณ์ ให้คณะกรรมการดำเนินการของแต่ละสหกรณ์ตั้งผู้แทนขึ้นสหกรณ์ละหนึ่งคน ประกอบเป็นคณะผู้จัดตั้งชุมนุมสหกรณ์เพื่อดำเนินการจัดตั้งชุมนุมสหกรณ์
การจัดตั้งและการจดทะเบียนชุมนุมสหกรณ์ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๓ ว่าด้วยสหกรณ์มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๐๔ การขอจดทะเบียนชุมนุมสหกรณ์นั้น ให้คณะผู้จัดตั้งชุมนุมสหกรณ์อย่างน้อยห้าคนลงลายมือชื่อยื่นคำขอต่อนายทะเบียนสหกรณ์
มาตรา ๑๐๕ ให้ชุมนุมสหกรณ์ที่ได้จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคลและเป็นสหกรณ์ตามพระราชบัญญัตินี้
เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ให้ชุมนุมสหกรณ์มีอำนาจกระทำการได้ตามมาตรา ๔๖ และตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๓ หมวด ๔ หมวด ๔/๑ หมวด ๕ และหมวด ๖ มาใช้บังคับกับชุมนุมสหกรณ์โดยอนุโลม
มาตรา ๑๐๕/๑ เพื่อส่งเสริมระบบสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของสมาชิกสหกรณ์ ให้ชุมนุมสหกรณ์ระดับประเทศมีอำนาจร่วมกับสหกรณ์สมาชิกของตน จัดสวัสดิการและการสงเคราะห์ของสมาชิกสหกรณ์และครอบครัวตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
มาตรา ๑๐๖ การประชุมใหญ่ชุมนุมสหกรณ์ให้ประกอบด้วยผู้แทนสหกรณ์ที่เป็นสมาชิกของชุมนุม สหกรณ์ ซึ่งคณะกรรมการดำเนินการของแต่ละสหกรณ์เลือกตั้งขึ้นสหกรณ์ละหนึ่งคน ตามที่กำหนดในข้อบังคับของชุมนุมสหกรณ์ ในการประชุมต้องมีผู้แทนสหกรณ์มาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้แทน สหกรณ์ทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคนแล้วแต่กรณี จึงจะเป็นองค์ประชุม
ผู้แทนสหกรณ์คนหนึ่งให้มีเสียงในการลงคะแนนหนึ่งเสียง หรือจะให้มีเสียงเพิ่มขึ้นตามระบบสัดส่วน ตามที่กำหนดในข้อบังคับของชุมนุมสหกรณ์นั้นก็ได้
มาตรา ๑๐๗ ในการเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์ให้ที่ประชุมใหญ่ชุมนุม สหกรณ์เลือกตั้งจากผู้แทนสหกรณ์ที่เป็นสมาชิกของชุมนุมสหกรณ์เป็นกรรมการ ตามจำนวนหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของชุมนุมสหกรณ์
หมวด ๘
สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย
มาตรา ๑๐๘ ให้มี "สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย" ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นสหกรณ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมกิจการสหกรณ์ทุกประเภททั่วราชอาณาจักร ให้มีความเจริญก้าวหน้าอันมิใช่เป็นการหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน
มาตรา ๑๐๙ ให้สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยเป็นนิติบุคคล
สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยมีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานคร และจะตั้งสำนักงานสาขาขึ้น ณ ที่อื่นใดก็ได้
มาตรา ๑๑๐ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย มีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๐๘ และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) ส่งเสริมและเผยแพร่กิจการสหกรณ์ ตลอดจนทำการวิจัยและรวบรวมสถิติเกี่ยวกับกิจการสหกรณ์
(๒) แนะนำช่วยเหลือทางวิชาการแก่สหกรณ์ และอำนวยความสะดวกในการติดต่อประสานงานระหว่างสหกรณ์กับส่วนราชการหรือบุคคลอื่น
(๓) ให้การศึกษาฝึกอบรมวิชาการเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์
(๔) ส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างสหกรณ์ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ หรือสันนิบาตสหกรณ์ของต่างประเทศ หรือองค์การต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์ทำนองเดียวกัน
(๕) ซื้อ จัดหา จำหน่าย ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครอง หรือทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินใด ๆ
(๖) ส่งเสริมธุรกิจการค้า อุตสาหกรรม หรือบริการของสหกรณ์
(๗) สนับสนุนและช่วยเหลือสหกรณ์เพื่อแก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้องที่เกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
(๘) เป็นตัวแทนของสหกรณ์ เพื่อรักษาผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้จากการสนับสนุนของรัฐ องค์การระหว่างประเทศ หรือภาคเอกชนอื่น
(๙) ร่วมมือกับรัฐบาลในการส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่บรรดาสหกรณ์อย่างแท้จริง
(๑๐) ดำเนินการอื่นเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ หรือตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติมอบหมาย
มาตรา ๑๑๑ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้
(๑) ค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย
(๒) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล
(๓) ดอกผลที่เกิดจากทุนกลางของสหกรณ์ไม่จำกัดตามมาตรา ๘
(๔) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
(๕) เงินหรือทรัพย์สินที่เหลือจากการชำระบัญชีสหกรณ์ตามมาตรา ๘๔ และมาตรา ๘๖ วรรคสอง
(๖) เงินที่ได้จากการจำหน่ายหนังสือวิชาการ เอกสาร หรือสิ่งอื่น
(๗) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับเป็นค่าตอบแทนในการให้บริการ
(๘) ผลประโยชน์ที่ได้จากทรัพย์สินของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย
มาตรา ๑๑๒ ให้มีคณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ประกอบด้วย ประธาน ดำเนินการชุมนุม สหกรณ์ระดับประเทศประเภทละหนึ่งคน ในกรณีที่สหกรณ์ประเภทใดไม่มีชุมนุมสหกรณ์ระดับประเทศ ให้มีผู้แทนสหกรณ์ประเภทนั้นจำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นซึ่งที่ประชุมใหญ่ของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยเลือกตั้ง จากผู้แทนของสหกรณ์ซึ่งเป็นกรรมการดำเนินการ มีจำนวนเท่ากับกรรมการโดยตำแหน่ง เป็นกรรมการ
ให้คณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยเลือกตั้งกรรมการ เป็นประธานกรรมการคนหนึ่ง และรองประธานกรรมการคนหนึ่งหรือหลายคน
ให้คณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยแต่งตั้งผู้อำนวยการ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และให้ผู้อำนวยการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยเป็นเลขานุการของคณะกรรมการ ดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย
หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งผู้แทนสหกรณ์ที่ไม่มีชุมนุมสหกรณ์ระดับประเทศ ให้เป็นไปตามระเบียบของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย
การกำหนดสัดส่วนผู้แทนสหกรณ์ที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการอื่นให้เป็นไปตามระเบียบในมาตรา ๑๑๓ (๓)
ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๕๒ มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย โดยอนุโลม
มาตรา ๑๑๓ ให้คณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย มีหน้าที่บริหารกิจการ ตลอดจนมีอำนาจออกระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามวัตถุประสงค์ของสันนิบาตสหกรณ์ แห่งประเทศไทย
การออกระเบียบเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยก่อน จึงใช้บังคับได้
(๑) ระเบียบว่าด้วยการใช้จ่ายและการเก็บรักษาเงิน
(๒) ระเบียบว่าด้วยการประชุมใหญ่ของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และหลักเกณฑ์การจัดส่งผู้แทนของสหกรณ์เข้าร่วมประชุมใหญ่
(๓) ระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้ง การประชุม และการดำเนินกิจการของคณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย
มาตรา ๑๑๔ ให้กรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี
เมื่อครบวาระดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการเลือกตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจน กว่ากรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับเลือกตั้งอีกได้ แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
มาตรา ๑๑๕ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๑๔ กรรมการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๕) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
(๖) พ้นจากการเป็นสมาชิกของสหกรณ์
ภาย ใต้บังคับตามวรรคหนึ่ง กรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งพ้น จากตำแหน่งเมื่อที่ประชุมใหญ่มีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงไม่ น้อยกว่าสองในสามของจำนวนผู้แทนสหกรณ์ซึ่งมาประชุม
เมื่อ มีกรณีตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้กรรมการเท่าที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ และให้ถือว่าคณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยประกอบด้วย กรรมการเท่าที่มีอยู่ เว้นแต่มีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงสองในสาม
ในกรณีที่กรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้คณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยเลือกตัวแทนของสหกรณ์ เป็นกรรมการแทน เว้นแต่วาระของกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งเหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวัน จะไม่ดำเนินการเลือกตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างก็ได้ และให้ผู้ได้รับเลือกแทนนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน
มาตรา ๑๑๖ ให้คณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยจัดให้มีการประชุมใหญ่ สามัญปีละหนึ่งครั้งภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของสันนิบาต สหกรณ์แห่งประเทศไทย
เมื่อมีเหตุอันสมควร คณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยจะเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ เมื่อใดก็ได้ หรือเมื่อสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดทำหนังสือ ร้องขอต่อคณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยให้เรียกประชุม ใหญ่วิสามัญ ในหนังสือร้องขอนั้นต้องระบุว่าประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อการใด
ในกรณีที่สมาชิกเป็นผู้ร้องขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญ ให้คณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ
ในกรณีที่คณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยไม่เรียกประชุม ใหญ่วิสามัญตามวรรคสาม สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดอาจทำหนังสือร้องขอ ภายในหกสิบวันนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาตามวรรคสาม เพื่อให้รัฐมนตรีเรียกประชุมใหญ่วิสามัญได้ ในกรณีเช่นนี้ให้รัฐมนตรีเรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ ได้รับหนังสือร้องขอ
มาตรา ๑๑๗ ให้ผู้อำนวยการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยมีหน้าที่บริหารกิจการของ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยตามระเบียบและนโยบายที่คณะกรรมการดำเนินการ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยกำหนด และมีอำนาจบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย
ในส่วนกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้อำนวยการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยเป็นตัวแทนสันนิบาตสหกรณ์แห่ง ประเทศไทย เพื่อการนี้ผู้อำนวยการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยจะมอบอำนาจให้บุคคลใด กระทำกิจการเฉพาะอย่างแทนตามระเบียบที่คณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์ แห่งประเทศไทยกำหนดก็ได้
มาตรา ๑๑๗/๑ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ให้ประธานดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย หรือกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งใน สามของกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย หรือสหกรณ์ที่เป็นสมาชิกไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยสหกรณ์ ร้องขอให้คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติวินิจฉัยได้
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติให้เป็นที่สุด
มาตรา ๑๑๘ ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๓ ส่วนที่ ๔ ว่าด้วยการสอบบัญชีมาใช้บังคับแก่สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยโดยอนุโลม
หมวด ๙
กลุ่มเกษตรกร
มาตรา ๑๑๙ ในกรณีที่คณะบุคคลผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ยังไม่อาจรวมกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์ตามพระราชบัญญัตินี้ได้ จะจัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรกรขึ้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยพระราช กฤษฎีกาก็ได้
พระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่ง ให้กำหนดการดำเนินการของกลุ่มเกษตรกร การกำกับกลุ่มเกษตรกร การเลิกกลุ่มเกษตรกร และการควบกลุ่มเกษตรกรเข้ากัน ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมแก่ประเภทของกลุ่มเกษตรกรด้วย
มาตรา ๑๒๐ กลุ่มเกษตรกรที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา ๑๑๙ ให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล
มาตรา ๑๒๑ ให้นายทะเบียนสหกรณ์เป็นนายทะเบียนกลุ่มเกษตรกร และมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และมีรองนายทะเบียนสหกรณ์เป็นผู้ช่วย มีอำนาจหน้าที่ตามที่นายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย
ให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัด เป็นนายทะเบียนกลุ่มเกษตรกรประจำจังหวัดที่กลุ่มเกษตรกรตั้งอยู่ และมีอำนาจหน้าที่ตามระเบียบที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนดโดยประกาศในราชกิจจา นุเบกษา
สำหรับกรุงเทพมหานครให้นายทะเบียนสหกรณ์เป็นนายทะเบียนกลุ่มเกษตรกรกรุงเทพมหานคร
ให้สหกรณ์จังหวัดเป็นนายทะเบียนกลุ่มเกษตรกรประจำจังหวัดที่กลุ่มเกษตรกรตั้งอยู่ และมีอำนาจหน้าที่ตามระเบียบที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
สำหรับกรุงเทพมหานครให้ผู้อำนวยการส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ ๑ และผู้อำนวยการส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ ๒ เป็นนายทะเบียนกลุ่มเกษตรกรกรุงเทพมหานคร
มาตรา ๑๒๒ ในกรณีที่กลุ่มเกษตรกร โดยมติของที่ประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม แสดงความจำนงขอเปลี่ยนฐานะเป็นสหกรณ์ เมื่อนายทะเบียนสหกรณ์พิจารณาเห็นว่าข้อบังคับของกลุ่มเกษตรกรมีรายการถูก ต้องตามมาตรา ๔๓ ให้นายทะเบียนสหกรณ์รับจดทะเบียน และดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๒๓ เมื่อนายทะเบียนสหกรณ์รับจดทะเบียนกลุ่มเกษตรกรเป็นสหกรณ์ให้คณะ กรรมการกลุ่มเกษตรกรมีฐานะเป็นคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จนกว่าจะมีคณะ กรรมการดำเนินการสหกรณ์ ซึ่งที่ประชุมใหญ่ได้เลือกตั้งขึ้นใหม่ตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
สหกรณ์ตามวรรคหนึ่งย่อมได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้สิน สิทธิ และความรับผิดของกลุ่มเกษตรกรเดิม
มาตรา ๑๒๔ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนกลุ่มเกษตรกร และพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนกลุ่มเกษตรกรมอบหมายมีอำนาจเข้าไปตรวจ สอบในสำนักงานของกลุ่มเกษตรกรในเวลาทำงานของกลุ่มเกษตรกร ให้ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวก ช่วยเหลือ และให้คำชี้แจงแก่ผู้เข้าไปตรวจสอบตามสมควร
ให้ผู้เข้าไปตรวจสอบตามวรรคหนึ่ง แสดงบัตรประจำตัวต่อผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง
บัตรประจำตัวตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๑๒๕ ในคดีฟ้องเรียกหนี้ที่กลุ่มเกษตรกร สมาชิก หรือผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้อยู่ในฐานะเช่นนั้น ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่นายทะเบียนกลุ่มเกษตรกรถอนชื่อ กลุ่มเกษตรกรออกจากทะเบียน
มาตรา ๑๒๖ ถ้ากลุ่มเกษตรกรเกี่ยวข้องในกิจการใดที่กฎหมายกำหนดให้จดทะเบียนสำหรับการ ได้มา การจำหน่าย การยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ หรือการยึดหน่วง ซึ่งกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ในการจดทะเบียนเช่นว่านั้นให้กลุ่มเกษตรกรได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่า ธรรมเนียม
มาตรา ๑๒๗ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้คำว่า "กลุ่มเกษตรกร" เป็นชื่อหรือส่วนหนึ่งของชื่อในทางธุรกิจ เว้นแต่กลุ่มเกษตรกรที่ได้จดทะเบียนตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา ๑๑๙
มาตรา ๑๒๘ ให้นายทะเบียนกลุ่มเกษตรกรและพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งนายทะเบียนกลุ่มเกษตรกรมอบหมาย มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้กรรมการ สมาชิกและเจ้าหน้าที่ของกลุ่มเกษตรกรมาชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของ กลุ่มเกษตรกร หรือให้ส่งเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินกิจการ หรือรายงานการประชุมของกลุ่มเกษตรกร
หมวด ๙/๑
การพิจารณาอุทธรณ์
มาตรา ๑๒๘/๑ ให้มีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมาย เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคนหนึ่งในคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติมอบหมาย เป็นกรรมการ
ให้อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์แต่งตั้งข้าราชการในสังกัดกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นเลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ
มาตรา ๑๒๘/๒ ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์ที่อุทธรณ์ตามมาตรา ๑๒๘/๔
(๒) มีหนังสือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือสั่งให้บุคคลดังกล่าวส่งเอกสาร หรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์
(๓) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มอบหมาย
มาตรา ๑๒๘/๓ ให้นำมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยอนุโลม
มาตรา ๑๒๘/๔ คำสั่งตามมาตรา ๒๐ มาตรา ๒๒ (๓) และ (๔) มาตรา ๗๑ และมาตรา ๘๙/๓ วรรคสอง รวมถึงคำสั่งเลิกกลุ่มเกษตรกรตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา ๑๑๙ วรรคสอง ให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง
คำสั่งไม่รับจดทะเบียนตามมาตรา ๓๘ และคำสั่งตามมาตรา ๔๔ ให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง
การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งและวรรคสองไม่เป็นเหตุทุเลาการบังคับตามคำสั่ง เว้นแต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะเห็นสมควรให้มีการทุเลาการบังคับตามคำสั่งนั้นไว้ชั่วคราว
มาตรา ๑๒๘/๕ หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการอุทธรณ์ และวิธีพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กำหนด
ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ แล้วแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์พร้อมด้วยเหตุผลเป็นหนังสือไปยังผู้อุทธรณ์โดยไม่ชักช้า
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด
หมวด ๑๐
บทกำหนดโทษ
มาตรา ๑๒๙ ผู้ใดใช้คำว่า "สหกรณ์" หรือ "กลุ่มเกษตรกร" ประกอบกับชื่อหรือส่วนหนึ่งของชื่อในทางธุรกิจ โดยมิได้เป็นสหกรณ์ หรือกลุ่มเกษตรกรที่ได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกินห้าพันบาทจนกว่าจะได้เลิกใช้
มาตรา ๑๓๐ ผู้ใดไม่มาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือไม่ส่งเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินงาน หรือรายงานการประชุมของสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ตามคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ รองนายทะเบียนสหกรณ์ ผู้ตรวจการสหกรณ์ ผู้สอบบัญชี หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมายซึ่งสั่งการตามมาตรา ๑๗ หรือไม่มาชี้แจงข้อเท็จจริง หรือไม่ส่งเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินงานหรือรายงานประชุมของกลุ่มเกษตรกรตามคำสั่งของนายทะเบียนกลุ่มเกษตรกร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนกลุ่มเกษตรกรมอบหมายตามมาตรา ๑๒๘ แล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๓๑ ผู้ใดขัดขวาง หรือไม่ให้คำชี้แจงแก่นายทะเบียนสหกรณ์ รองนายทะเบียนสหกรณ์ ผู้ตรวจการสหกรณ์ ผู้สอบบัญชี หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมายตามมาตรา ๑๘ หรือขัดขวางหรือไม่ให้คำชี้แจงแก่นายทะเบียน กลุ่มเกษตรกรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนกลุ่มเกษตรกรมอบหมายตามมาตรา ๑๒๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๓๒ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามที่นายทะเบียนสหกรณ์สั่งการ ตามมาตรา ๒๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๓๓ กรรมการหรือผู้จัดการของสหกรณ์ผู้ใดดำเนินกิจการของสหกรณ์นอกขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการของสหกรณ์ที่จะพึงดำเนินการได้ตามกฎกระทรวงที่ออกตามความ ในมาตรา ๓๓/๑ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๓๓/๑ กรรมการหรือผู้จัดการของสหกรณ์ผู้ใดดำเนินกิจการของสหกรณ์โดยผิดวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ และการดำเนินกิจการนั้นเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๓๓/๒ ผู้ใดฝ่าฝืนไม่จัดการรักษาทรัพย์สินของสหกรณ์ หรือไม่ส่งมอบทรัพย์สิน สมุดบัญชี เอกสาร และสิ่งอื่นของสหกรณ์ให้แก่ผู้ชำระบัญชีตามมาตรา ๗๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
มาตรา ๑๓๓/๓ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๘๙/๒ (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๑๐) (๑๑) (๑๒) หรือ (๑๓) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
มาตรา ๑๓๓/๔ ผู้ใดฝ่าฝืนไม่แก้ไขข้อบกพร่องหรือระงับการดำเนินการตามที่นายทะเบียนสหกรณ์สั่งการตามมาตรา ๘๙/๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๓๓/๕ ในกรณีที่สหกรณ์กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ กรรมการหรือผู้จัดการสหกรณ์ซึ่งเป็นผู้ลงมติให้สหกรณ์ดำเนินการหรืองดเว้นการดำเนินการ หรือเป็นผู้ดำเนินการ หรือรับผิดชอบในการดำเนินการนั้น ได้กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใด ๆ โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับไม่เกินห้าแสนบาท
(** เพิ่มเติม มาตรา ๓๓ – มาตรา ๔๐ ตามฉบับที่ 3
ฉบับแก้ไข พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งเสมือนเป็น บทเฉพาะกาล)
** มาตรา ๓๓ ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๖๒
ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ต้องดำเนินการแต่งตั้งให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
** มาตรา ๓๔ ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๖๒
ในกรณีที่ข้อบังคับของสหกรณ์ใดไม่เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๓๓/๑ วรรค ๒ แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้สหกรณ์นั้นแก้ไขข้อบังคับของสหกรณ์ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงดังกล่าวภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับ
** มาตรา ๓๕ ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๖๒
ให้สหกรณ์แก้ไขข้อบังคับของสหกรณ์ที่เกี่ยวกับสมาชิกสมทบให้เป็นไปตามมาตรา ๔๑ แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
** มาตรา ๓๖ ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๖๒
สหกรณ์ที่มีสมาชิกซึ่งมิได้มีสัญชาติไทยอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้สหกรณ์ดำเนินการปรับปรุง แก้ไข ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง หากสมาชิกผู้ใดมีนิติกรรมกับสหกรณ์ แต่ได้พ้นจากสมาชิก โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้บอกเลิกนิติกรรมนั้น ให้นิติกรรมนั้นยังคงมีอยู่ต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดไปตามเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาที่ตกลงกัน แต่จะทำการใดก่อผลผูกพันขึ้นใหม่มิได้
** มาตรา ๓๗ ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๖๒
บรรดาคำอุทธรณ์ที่ได้ยื่นและยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจพิจารณาต่อไปตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะแล้วเสร็จ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
** มาตรา ๓๘ ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๖๒
บรรดากฎหรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีกฎหรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
** มาตรา ๓๙ ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๖๒
ในการดำเนินการออกกฎกระทรวงและระเบียบ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้รัฐมนตรีรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
** มาตรา ๔๐ ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๖๒
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี